Loading...

บทความคุณธรรม

สามสมบูรณ์กับความสมดุลที่ยั่งยืน โดย ยงจิรายุ อุปเสน , สิทธิพร กล้าแข็ง


อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ให้แนวทางการพัฒนาไว้ว่า ควรทำให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล ภายใต้กงล้อการพัฒนา ๓ มิติ คือ ความดี ความสามารถ และความสุข ความดี เป็นฐานของการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความสุข ความร่มเย็น ความยั่งยืน เป็นฐานให้เกิดความสามารถที่จะใช้ไปในทางที่ถูกต้องดีงาม ความสามารถที่ดีงาม ก็จะสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น และเป็นความเร็จที่เป็นประโยชน์สุขร่วมกันของสังคม ตั้งแต่จุดเล็กที่สุด ไปถึงสังคมใหญ่ของประเทศ

จากการได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท สมบูรณ์กรุ๊๊ป แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) อ.บางโฉลง จ.สุมทรปราการ และ ศูนย์การเรียนรู้ ( Somboon Learning Academy) ของบริษัทกลุ่มสมบูรณ์ อมตะซิตี้ จ.ระยอง เราก็ได้พบว่า บริษัทกลุ่มสมบูรณ์ มีปรัชญาการพัฒนาที่ครบองค์ประกอบทั้งสามด้าน อย่างสอดคล้อง และเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ต้องการให้เกิดขึ้นกับองค์กรต่างๆ ในสังคม

บริษัท สมบูรณ์กรุ๊๊ป แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร โดยมุ่งเน้นการเติบโตที่ยั่งยืน สร้างผลกำไรภายใต้การตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งหลักการทั้งหมดนี้ได้รับการสืบทอดและส่งต่อมาตั้งแต่รุ่นนายห้างสมบูรณ์ กิตะพาณิชย์ จนถึงทายาทรุ่นปัจจุบัน ซึ่งท่านได้ยึดมั่นในเรื่องของคุณธรรม ความกตัญญู ซื่อสัตย์ ขยันและอดทน เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจ ที่รับผิดชอบต่อสังคม จนก่อเกิดเป็นโครงการต่าง ๆ มากมายที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ

ที่สำคัญที่สุด คือ บริษัท สมบูรณ์กรุ๊๊ป แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก 3 สมบูรณ์ สร้างสมดุล คือ ฅนสมบูรณ์ ธุรกิจสมบูรณ์ และชุมชนสมบูรณ์ เน้นพนักงานเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ตามบริบทขององค์กร จึงเป็นที่มาของปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ และเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มสมบูรณ์

คำว่า “ฅนสมบูรณ์” ในที่นี้หมายถึง คนที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง สร้างคุณค่าให้กับองค์กร และสร้างคุณค่าให้กับสังคม

“ธุรกิจสมบูรณ์” หมายถึง การสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นการสร้างประโยชน์ตอบโจทย์ผู้ร่วมทุนอย่างมีธรรมาภิบาล

“ชุมชนสมบูรณ์” คือ การมีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสเพื่ือสร้างคุณค่าเพิ่มให้ชุมชนรอบข้าง และประเทศชาติ

องค์ประกอบของการพัฒนา ทั้งสามสมบูรณ์ ของปรัชญาการดำเนินธุรกิจ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักของการพัฒนา ๓ กงล้อ ที่ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้เคยให้ไว้ คือ คนสมบูรณ์ เป็นมิติของความดี การสร้างคุณค่า ธุรกิจสมบูรณ์ เป็นมิติของความสามารถที่นำมาสู่การสร้างกำไร หรือผลตอบแทนต่อผู้ร่วมทุนอย่างมีคุณธรรม และ ชุมชนสมบูรณ์ เป็นมิติของความสุข เป็นประโยชน์สุขร่วมกันกับชุมชนและสังคม และประเทศชาติ ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ ก็เป็นหลักการพัฒนาตามแนวทางพระพุทธศาสนา เรียกไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นชื่อย่อของมรรค มีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางที่จะนำไปสู่ความสุขและสันติ

เมื่อจำแนกมรรคมีองค์ ๘ ออกเป็นหมวดๆ ๓ หมวด จะได้เป็น ดังนี้

หมวดศีล คือ ความดี ตรงกับความเป็นคนที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย สัมมาวาจา การพูดจาชอบ สัมมากัมมันตะ การทำการงานชอบ และสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ

หมวดสมาธิ คือ ความสุข หรือประโยชน์สุขของการเป็นชุมชนสมบูรณ์ ประกอบด้วย สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ ในสิ่งที่ควรทำและเป็นความถูกต้องดีงามต่อชุมชนและสังคม ประเทศชาติ

หมวดปัญญา คือ ความสามารถหรือการประกอบธุรกิจที่สำเร็จ สมบูรณ์ ซึ่งต้องประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ และสัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

ดังนั้นไตรสิกขาคือ ปัญญา ศีล สมาธิ ซึ่งเป็นชื่อย่อของมรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นฐานของการพัฒนาที่สมบูรณ์ เป็นการพัฒนาที่สมดุลของโลก แม้คำศัพท์ที่กล่าวเรียก จะต่างกันไปตามยุคสมัยแต่แก่นแท้ของการพัฒนาที่สมดุลนั้น ยังต้องประกอบด้วยความดี (ศีล) ความสามารถ (ปัญญา) และความสุข (สมาธิ) อยู่เช่นนั้นนั่นเอง

หลักการสามสมบูรณ์ ได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และลงไปถึงพนักงานในทุกระดับ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาที่มีกระบวนสำคัญ คือเรื่องของการพัฒนาคน เพราะเชื่อว่าการหล่อหลอมอบรม บ่มเพาะ พัฒนาคนให้เป็นคนดีนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความดีทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกระดุมเม็ดแรก เนื่องจากการเป็นคนดีเป็นเรื่องของจิตสำนึก แต่การเป็นคนเก่งเป็นสิ่งที่สร้างได้จากการพัฒนาวิชาชีพในการทำงาน และเมื่อคนเก่งแล้วก็ต้องสร้างจิตสำนึกให้เป็นคนดียิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย โดยการเอาความเก่งของตัวเองส่งต่อให้เพื่อนร่วมงาน องค์กร และสังคม เช่น การสอนงานให้กับเพื่อนพนักงานรุ่นใหม่ การให้ความรู้แก่ชุมชน การช่วยเหลือชุมชมและสังคม การแสดงออกลักษณะนี้ถือว่าเป็นการพัฒนาด้านฅนสมบูรณ์ ในความหมายของสมบูรณ์ กรุ๊ป

2

การดำเนินด้านการพัฒนาคน ถือว่าเป็นกระบวนสำคัญต่อความเติบโตอย่างมั่นคงทางธุรกิจในกลุ่มสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เองผู้บริหาร คณะทำงาน พนักงาน ในทุกระดับ ได้ร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาโครงการต่าง ๆ มากมาย ทั้งเป็นโครงการที่ทำเองภายในกลุ่ม และโครงการที่ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น โครงการโรงเรียนในโรงงาน โครงการพัฒนาช่างเทคนิค โครงการช้างเผือก โครงการข้าราชการพันธุ์ใหม่ โครงการทุนการศึกษาเพื่อลูกพ่อ โครงการเตรียมความพร้อมพนักงานก่อนวัยเกษียณ โครงการทุนพัฒนาบ้านเกิด เป็นต้น นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ (Somboon Learning Academy) และพัฒนาหลักสูตรอบรมภายใน ครอบคลุมตั้งแต่พื้นฐานและหลักสูตรเฉพาะทางตามสายอาชีพ เพื่อหล่อหลอมและพัฒนาศักยภาพพนักงานไปในทิศทางเดียวกัน

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงกิจกรรมบางส่วนที่หยิบยกมาเล่าจากการได้รับโอกาสไปร่วมดูงานขององค์กรแห่งนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจในด้านการพัฒนาคนให้เป็นคนดีและคนเก่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันอย่างมาก หากจะเปรียบไปแล้ว การพัฒนาคนก็เหมือนกับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของบริษัท ไม่ว่าเหล็กกล้าจะมาจากแหล่งไหน มีรูปร่างเป็นอย่างไรก็ตาม ก็ต้องผ่านกระบวนการหลอมที่ต้องใช้พลังงานความร้อนสูง เพื่อขึ้นรูปตามแบบที่ได้กำหนดไว้ เมื่อได้ตามแบบที่ต้องการแล้วก็ต้องผ่านกระบวนการตกแต่งให้สวยงาม และตรวจสอบตามมาตรฐานคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้ามีคุณภาพครบถ้วนตามที่ต้องการก่อนส่งออกไปสู่มือลูกค้า ลูกค้าเองก็ย่อมพึงพอใจเมื่อได้รับของดีมีคุณภาพ เช่นเดียวกัน คนของสมบูรณ์กรุ๊ปก็ต้องผ่านกระบวนการหล่อหลอม อบรม บ่มเพาะพัฒนา จนกลายเป็นคนดีและคนเก่งตามเป้าหมายขององค์กร ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางธุรกิจ ให้กลายเป็นธุรกิจสมบูรณ์ ความสมบูรณ์ทั้งสองส่วนนี้ได้ส่งต่อสู่ชุมชนสมบูรณ์ ในรูปแบบของการช่วยเหลือ แบ่งปัน ส่งเสริมชุมชนผ่านช่องทางต่างๆ เป็นการพัฒนาที่สมดุล บนพื้นฐานคุณธรรม หนึ่งในแบบอย่างขององค์กรธุรกิจที่ส่งเสริมคุณธรรม ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะเพื่อขับเคลื่อนสู่องค์กรคุณธรรม ในวันนี้

ยงจิรายุ อุปเสน

สิทธิพร กล้าแข็ง

โครงการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะเพื่อขับเคลื่อนสู่องค์กรคุณธรรม

โดย สสส. ศูนย์คุณธรรม และมูลนิธิหัวใจอาสา

ที่มา: ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

จำนวนผู้เข้าชม : 2923

กลับหน้าแรก