Loading...

บทความคุณธรรม

องค์กรคุณธรรม สร้างคนดี เพื่อสังคมดี

การสร้างคนไทยให้เป็นคนดี คนเก่ง คนมีคุณภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ไม่ใช่เรื่องที่จะสำเร็จได้โดยง่าย หากไม่มีกลยุทธ์สำคัญ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ไปถึง กลยุทธ์สำคัญที่ว่านี้ ต้องไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือทำไปโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนตรงกัน แต่ต้องเป็นภาพของการบูรณาการทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้องค์กรของตนเอง เป็นองค์กรที่จะสร้างคนดี คู่กับความเก่ง และความมีคุณภาพ หรือ ความเป็นองค์กรคุณธรรม

ทุกภาคส่วนที่สำคัญ ประกอบด้วย ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา องค์กรศาสนา ภาคธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน องค์กรของรัฐ และประชาชนทั่วไป จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคนดี โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ดังที่เคยปรากฏมาในอดีต เพราะการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้เกิดความดีนั้น ทำฝ่ายเดียวไม่ได้ เข้าทำนองดีคนเดียวไม่พอ ต้องร่วมกันทำดี จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้

องค์กรคุณธรรม คือ องค์กรที่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หรือพนักงานแสดงเจตนารมย์และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมคุณธรรมของคนในองค์กร และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณธรรม โดยยึดหลักดำเนินการ ๓ ด้าน คือ

๑. บริหารจัดการองค์กรให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

๒. ส่งเสริมสนับสนุนให้คนในองค์กร เป็นคนดี มีคุณธรรมเป็นหลักยึดปฏิบัติร่วมกัน

๓. รณรงค์ ส่งเสริมและแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติ

ทั้งนี้ ก็เพื่อรับผิดชอบต่อสมาชิกองค์กร ให้ช่วยกันเปลี่ยนแปลงตนเอง ในระดับบุคคล และให้ทำประโยชน์สุขต่อส่วนรวม

การพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรคุณธรรม จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญของรัฐบาล ที่จะขับเคลื่อนสังคมไทย ไปสู่จุดหมาย ด้วยฐานของคุณธรรม ซึ่งเป็นรากเง้าของความสุขที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน ศูนย์คุณธรรม ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้ศึกษา และสำรวจองค์กรคุณธรรม ในสังคมไทย และเชื่อมโยงองค์กรเหล่านี้ ด้วยกระบวนการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พบว่า องค์กรคุณธรรม ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ประเทศไทย คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้มากที่สุด และองค์กรต่างๆ เหล่านี้ มีกันอยู่แล้ว กระจายกันแพร่หลายในทุกกลุ่ม สาขา อาชีพ ทั้งในรูปแบบชุมชนคุณธรรม สถานศึกษาคุณธรรม โรงพยาบาลคุณธรรม โรงงานคุณธรรม โรงพักคุณธรรม วัดส่งเสริมคุณธรรม หน่วยงานรัฐคุณธรรมและอีกหลายๆ กลุ่ม

อย่างไรก็ดี การสร้างพื้นที่ความดีจากจุดเล็กๆ ยังไม่พอ จะต้องมีการเชื่อมโยงกันเป็นภาพใหญ่ ให้ทุกจุดเป็นหูเป็นตาสอดส่องกันเอง ดูแลลูกหลานตนเอง คนในองค์กรด้วยกันเองอีกด้วย ดังนั้น ศูนย์คุณธรรม จึงได้มีบทบาทในการเชื่อมโยงและเปิดพื้นที่กลาง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกย่องเชิดชูการทำความดี ทุกรูปแบบผ่านกระบวนการสมัชชาคุณธรรม ระดับจังหวัด ภาคและชาติ ซึ่งได้เห็นรูปธรรมชัดเจนว่า หากนำคุณธรรม มายึดเป็นเป้าหมายร่วมกัน กิจกรรมของทุกองค์กร ก็จะสะท้อนคุณค่าของการวัดผลที่คุณภาพของคนต้องดีขึ้น เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีงาม ลดปัญหาทางสังคมได้ เมื่อทำสำเร็จความสุขก็เพิ่มขึ้น และความทุกข์ก็จะลดลง เช่น ตัวอย่างของแก้ไขปัญหาท้องก่อนวัยอันควร ปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตร ปัญหาคนชรา คนพิการถูกทอดทิ้ง ได้รับการจัดการดูแลด้วยระบบชุมชนคุณธรรม อำเภอคุณธรรม กรณี อ.บางมูลนาก จังหวัดพิจิตร และการแก้ไขปัญหาเยาวชนยกพวกตีกัน การลักขโมย การก่อกวนความสงบสุขในหมู่บ้าน ด้วยกระบวนการธรรมนูญสันติสุขหมู่บ้าน ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

หากเราเชื่อมั่นว่า คุณธรรม เป็นฐานของการพัฒนา ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศวัย จะมีหลักยึด และสร้างสรรค์แต่สิ่งดีงาม ไปในทางบวก อย่างแน่นอน

มาร่วมกันเป็นองค์กรคุณธรรม สร้างคนดี เพื่อสังคมดี ที่จะยกระดับคนดีให้เป็นคนคุณภาพ ด้วยการมีพฤติกรรมความพอเพียง ความมีวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต และการมีจิตสาธารณะ ที่สำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม และขับเคลื่อนประเทศไทย ไปด้วยกัน ด้วยพลังเครือข่ายคุณธรรมในสังคม ที่มาจากองค์กรคุณธรรมเหล่านี้ แล้วประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม จะเป็นจริง ....

ยงจิรายุ อุปเสน

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

กระทรวงวัฒนธรรม

ที่มา: ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

จำนวนผู้เข้าชม : 10292

กลับหน้าแรก