ความเป็นมา
แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ
คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่ง
ชาติ แต่งตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยได้กำหนดความหมายของคำว่า “คุณธรรม” และ “จริยธรรม” ไว้ดังนี้“คุณธรรม” หมายความว่า สิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นความดีงาม เป็นมโนธรรม เป็นเครื่องประคับประคองใจให้เกลียดความชั่ว กลัวบาป ให้ความดีเป็นเครื่องกระตุ้นผลักดันให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ เกิดจิตสำนึกที่ดีมีความสงบเย็นภายใน และเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการในสังคมไทย “จริยธรรม” หมายความว่า กรอบหรือแนวทางอันดีงามที่พึงปฏิบัติ ซึ่งกำหนดไว้สำหรับสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยงดงาม ความสงบร่มเย็นเป็นสุข ความรักสามัคคี ความอบอุ่น มั่นคงและปลอดภัยในการดำเนินชีวิต
ระเบียบสำนักนายกฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมในสังคมไทย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวนทั้งหมด ๑๘ คน โดยมีองค์ประกอบ ๒ ส่วน ได้แก่ กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนกระทรวง จำนวน ๘ คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เกี่ยวกับงานส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมเป็นกรรมการ คลิกเพื่อดูรายชื่อคณะกรรมการชุดปัจจุบัน
การดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๙
การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นประธานกรรมการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายธีระ สลักเพชร) เป็นรองประธานกรรมการ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้จัดทำแผนระยะสั้นเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาคุณธรรมในสังคมไทย โดยจัดทำโครงการรักพ่อ ทำตามคำสอนพ่อ รณรงค์คุณธรรม ๔ ประการ ซึ่งรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานเนื่องในพิธีฉลองการเสด็จขึ้นครองราชย์ครบ ๖๐ ปี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ อันประกอบด้วย “เมตตาธรรม สามัคคีธรรม สุจริตธรรม และความเที่ยงธรรม” และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์ของคนไทย โดยได้จัดทำ ร่างวาระแห่งชาติการส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริตของคนไทย เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบประกาศเป็นวาระแห่งชาติฯ เป้าหมายเพื่อต้องการปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตและปรับเปลี่ยนทัศนคติในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ เพิ่มมาตรฐานความโปร่งใส เสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศ ให้เป็นที่ยอมรับของปะชาคมโลกมากขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำผลการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ วาระแห่งชาติฯ ฉบับนี้ ได้ยุติและไม่มีการเคลื่อนไหวต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรรมการฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำร่างแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ กรมการศาสนาได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำร่างแผนแม่บทฯ และจัดประชุมประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับร่างแผนแม่บทฯ ในพื้นที่ ๔ ภาคทั่วประเทศ และนำผลสรุปที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์มาประกอบการจัดทำร่างแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙)
แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฉบับแรก
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร) ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายวีระ โรจน์พจนรัตน์) เป็นรองประธานกรรมการ ได้พิจารณาร่างแผนแม่บทฯ อีกครั้ง และเห็นชอบกรอบการจัดทำร่างแผนแม่บทฯ พร้อมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อจัดทำแผนแม่บทฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับติดตามการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อบูรณาการการส่งเสริมคุณธรรม และกำกับติดตามการจัดกิจกรรมของหน่วยงานทุกภาคส่วน
และเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและประกาศใช้ “แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๔)” อันเป็นแผนแม่บทระดับชาติเพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นกรอบและทิศทางในการดำเนินงาน โดยนำกลไกประชารัฐมาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน ส่งเสริมและพัฒนาคนไทยให้มีความรู้คู่คุณธรรม เกิดเป็นสังคมคุณธรรมอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติจึงได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ให้มีกระบวนการขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการทำหน้าที่กำกับดูแลในระดับนโยบายขึ้น ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๔) (๒) คณะอนุกรรมการด้านวิชาการการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย และ (๓) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย และในระดับปฏิบัติการ ๒ คณะ ได้แก่ (๑) คณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับกระทรวง โดยมีปลัดกระทรวงเป็นประธานอนุกรรมการ และ (๒) คณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ ให้ทุกกระทรวง จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมกับแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ซึ่งต่อมาภายหลังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมของกรุงเทพมหานคร เป็นคณะอนุกรรมการในระดับปฏิบัติการเพิ่มเติมอีกคณะหนึ่ง โดยมีปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรมตามแผนแม่บทฯ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเกิดประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ทุกภาคส่วนรวมพลังขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ
ในช่วงแรกของการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๐) คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้เร่งดำเนินการตามตัวชี้วัดระยะสั้นของแผนแม่บทฯ โดยสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการขับเคลื่อนผ่านช่องทางหลากหลาย อาทิ เวทีการประชุมทางวิชาการ จัดทำองค์ความรู้ สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อประชาสัมพันธ์ ให้ทุกกระทรวง ทุกจังหวัดและหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ร่วมจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมของแต่ละหน่วยงาน จัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมทั้งในมิติศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมไทย แก่บุคลากรและประชาชนทั่วไป ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาองค์กร ชุมชน อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของแผนแม่บทฯ โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่ริเริ่มใช้แผนแม่บทฯ จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการฯ ได้กำกับติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ นั่นคือ “ประเทศชาติและประชาชน มั่นคง สงบสุขด้วยมิติทางศาสนา มั่งคั่ง เข้มแข็งด้วยวิถีวัฒนธรรมไทย ยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
“พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” นำชาติมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมคุณธรรม คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ จึงได้กำหนดลักษณะคุณธรรมเป้าหมายที่จะรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยในช่วงต้นของการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ โดยน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นคุณธรรมรากฐานสำคัญ ๕ ประการ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่คุณธรรมอื่น ๆ ได้อย่างครบถ้วน คือ ซื่อตรง วินัย รับผิดชอบ พอเพียง และจิตอาสา โดยนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เลือกใช้คำที่สร้างความคุ้นเคยและสามารถจดจำได้ง่าย จึงสรุปได้เป็นคุณธรรม ๔ ประการ คือ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” ซึ่งเป็นคุณธรรมเป้าหมายที่จะปลูกฝังให้คนไทยตระหนักและประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้ให้คำจำกัดความของ คุณธรรม ๔ ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนนำนโยบายในการรณรงค์ขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติตามความเหมาะสมและบริบทของแต่ละหน่วยงานไว้ดังนี้
พอเพียง หมายถึง ความพอเพียงในการดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง มีเหตุผล ใช้ความรู้ในการตัดสินใจอย่างรอบคอบ มีความพอประมาณ พอดี ไม่เบียดเบียนตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ประมาท สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
วินัย หมายถึง การยึดมั่นและรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ทั้งวินัยต่อตนเองในการผลักดันชีวิตให้ก้าวหน้า วินัยต่อองค์กรและสังคม ปฏิบัติตามจริยธรรม จรรยาบรรณ และเคารพต่อกฎหมาย
สุจริต หมายถึง ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่น ยืนหยัดในการรักษาความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรมทั้งปวง กล้าปฏิเสธในการกรทำที่ไม่ซื่อตรง ไม่ซื่อสัตย์ของบุคคลอื่น ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม
จิตอาสา หมายถึง การเป็นผู้ที่ใส่ใจต่อสังคมสาธารณะและอาสาลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อันมิใช่หน้าที่ของตน ด้วยความรักความสามัคคี เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ของสังคม และของประเทศชาติ โดยมิได้หวังผลตอบแทน ทำความดีเพื่อความดี เอื้ออาทรต่อคนร่วมสังคม ทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย
ดาวน์โหลดหนังสือ การส่งเสริมคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา สร้างคนดีสู่สังคม คลิก!