บทความคุณธรรม
ตัวชี้วัดความสุขชุมชน : ความดี ความสามารถ ความสุข เครื่องมือสำคัญของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ในศตวรรษที่ 21
นับตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา ประเทศไทยของเรา ได้มีแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2559-2564 มีเป้าหมายให้สังคมไทยมีหลักคุณธรรม ความดีเป็นฐานของการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสังคมที่มีคุณธรรม ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวในภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันดำเนินการพัฒนาองค์กรคุณธรรม ชุมชนคุณธรรม ขยายไปสู่การเป็นอำเภอที่มีคุณธรรมและจังหวัดคุณธรรม โดยมีกลไกการขับเคลื่อนปฏิบัติตั้งแต่ระดับกระทรวง ไปถึงจังหวัด เป็นกลไกปฏิบัติขับเคลื่อนรองรับ
สถานการณ์ปัจจุบันของการดำเนินการส่งเสริมชุมชนคุณธรรมนั้น ไม่ได้ราบรื่นเสียทั้งหมด ในแต่ละพื้นที่ โดยภาพรวมต่างค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อมของพื้นที่ ซึ่งเกิดจากความเข้าใจที่แตกต่างกันออกไป ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม จากข้อค้นพบสำคัญเกี่ยวกับชุมชนคุณธรรมนั้น พบว่า รูปแบบการพัฒนาชุมชนคุณธรรม มีหลายรูปแบบโดยเรียกชื่อตามหน่วยงานส่งเสริมหรือผู้คิดค้นความรู้นั้นๆ อาทิ หมู่บ้านแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านศีล 5 ชุมชนคุณธรรมพลัง บวร. บรม. บวชร. ชุมชนเข้มแข็งเป็นสุข ชุมชนปลอดภัย ชุมชนจัดการตนเอง ชุมชนช่อสะอาด ชุมชนสันติสุข 9 ดี ซึ่งเหล่านี้ ล้วนแต่ตั้งชื่อชุมชนตามโครงการหรือค่ายความรู้นั้นๆ จนเป็นประเด็นให้ขบคิดกันเล่นๆ ว่า ชื่อชุมชนเหล่านี้ คงจะใช้ถูกเรียกใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ ตามเจ้าของเงินและเจ้าของค่ายความรู้ อย่างไม่สิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ค้นพบตรงกัน ในต้นแบบของชุมชนเหล่านี้ คือ มีหลักของการพัฒนาที่จะต้องมีครบองค์ประกอบสามด้าน คือ ความดี (คุณธรรม) ความสามารถ (ความรู้ ข้อมูล สติปัญญา การเรียนรู้) และความสุข ทั้งสามมิตินี้ จะเป็นหลัก เป็นกงล้อของการพัฒนาที่สมดุล จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไปไม่ได้ หากขาดเสียหรือหย่อนยานซึ่งด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะเป็นการพัฒนาที่มีผลกระทบทั้งบวกและลบเกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น หากเรามุ่งพัฒนาขีดความสามารถชุมชนอย่างเดียว โดยไม่สนใจมิติด้านความดี ซึ่งมุ่งไปในเรื่องการทำแผน ซ่อม สร้างการบริหารจัดการ กองทุน การทำบัญชี การสื่อสารรณรงค์ เราจะประสบกับความเจริญก้าวหน้า มีความโดดเด่นทางวัตถุ เพิ่มรายได้และความเจริญขึ้นมา แต่อาจสร้างปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขาดความมีวินัย ความพอเพียง ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม จนเกิดปัญหาอื่นๆตามมา สร้างให้เกิดเป็นสังคมที่ต่างคนต่างอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้น ความอยู่เย็นเป็นสุข จึงเป็นเป้าหมายที่พึงประสงค์ร่วมกัน โดยจะต้องยึดหลักในความดี และความสามารถที่สมดุล
ชุมชนคุณธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม หากพิจารณาหลักการพัฒนาทั้งสามส่วนนี้ครบถ้วนดีแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง สันติสุข ทั้งนี้ จะต้องใช้หลักสามประการนี้ ไปกำหนดไว้ในเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขของชุมชน เป็นสำคัญ เพราะการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขของชุมชน เป็นการยึดในประโยชน์สุขร่วมของชุมชนนั้นๆ ที่ครบทั้งสามด้าน โดยมีกระบวนการใช้เวทีสภาชุมชน เป็นเครื่องมือ กำหนดและติดตามผลร่วมกัน
การจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขของชุมชน จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของชุมชนต่างๆ ในวันนี้ และในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจอย่างยิ่งในขณะนี้ ท่านอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถึงกับเชื่อว่า “หากชุมชนกำหนดความสุขของตนเองได้ ความสุขจะกำหนดการพัฒนา” หมายความว่า ถ้าหมู่บ้าน ชุมชนใด สามารถกำหนดเป้าหมายความสุขร่วมกันของชุมชนได้ ก็จะทำให้เกิดการร่วมมือ ร่วมใจและเดินไปอย่างมีทิศทาง บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีกระบวนการคือ การจัดทำเป้าหมายความสุขของคนในชุมชนนั้นถือเป็นบันไดขั้นแรก จากนั้นสิ่งที่ต้องทำเป็นบันไดขั้นที่สอง คือการกำหนดตัวชี้วัดสำคัญที่จะไปให้ถึงภายใต้เป้าหมายนั้นๆ บันไดขั้นที่สามคือการกำหนดวิธีการสำคัญที่จะไปบรรลุเป้าหมาย ตัวชี้วัดร่วมกัน ซึ่งต้องดำเนินการไปตามหน้าที่ของแต่ละฝ่ายในท้องถิ่น และสุดท้ายคือ บันไดขั้นที่สี่ที่จะต้องติดตาม ประเมินผลความก้าวหน้าร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
จากนั้น กลุ่มองค์กรต่างๆ รวมทั้งภาคีหน่วยงานในท้องถิ่น ก็จะได้ร่วมกันปรับกิจกรรมแผนงาน ของแต่ละฝ่าย เพื่อให้สอดรับกับการบรรลุเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งเรื่องที่ดำเนินการกันเองและขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก โดยใช้เวทีประชุมสภาชุมชน เป็นเครื่องมือติดตามผล ทำให้กิจกรรมการพัฒนาของกลุ่มต่างๆ ในชุมชนเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย เห็นความก้าวหน้า เป็นที่รู้เห็นของคนในชุมชน ที่สำคัญยังทำให้หน่วยงานภายนอก เช่น เกษตร สาธารณสุข พอช. พมจ. กรมการพัฒนาชุมชน ปปส. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถเข้ามาเสริมได้ตรงกับสิ่งที่ชุมชนต้องการ ในแต่ละเป้าหมาย
การจัดทำเป้าหมาย ตัวชี้วัดความสุขชุมชน นอกจากจะทำให้ชุมชนท้องถิ่นนั้น ได้ทำอะไรร่วมกันอย่างมีเป้าหมาย และสามารถชี้ชัด วัดผลงานได้ ตามแบบชาวบ้านกำหนดแล้ว ยังซึ่งช่วยให้การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมีทิศทางสำคัญ ตามหลักการ นิโรธ ในหลักอริยสัจ 4 นอกจากนี้ยังช่วยเสริมให้องค์กรและหน่วยงานสำคัญในท้องถิ่น ได้แก่ ท้องถิ่น ท้องที่ และองค์กรชุมชน ได้หันหน้าเข้ามาหากัน ทำงานร่วมกัน ภายใต้เป้าหมายร่วมกัน ตามบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน นับเป็นเครื่องมือสำคัญอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่ทุกชุมชนท้องถิ่น สามารถนำไปปรับใช้ได้ในแต่ละพื้นที่ต่อไป รายละเอียดติดต่อสอบถามเพิ่มเติม หรือขอชุดความรู้ได้ที่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) 02-6449900 และมูลนิธิหัวใจอาสา โทร. 02-3183959 หรือที่ฝ่ายบริการวิชาการสังคม มศว โทร. 02-6495000 ต่อ 11398
ยงจิรายุ อุปเสน
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
กระทรวงวัฒนธรรม
ที่มา : ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)