แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรม
แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๔)
เป็นแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เห็นชอบแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๔) เพื่อให้แผนแม่บทฯ เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการแก้ไขปัญหาวิกฤตคุณธรรมของคนในชาติ สร้างความสมดุลทั้งทางวัตถุและจิตใจ ทำให้ประเทศชาติและประชาชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทฯ ไปปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรีตามลำดับ
การจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติเป็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วนตามยุทธศาสตร์ประชารัฐ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐาน “คนไทยทุกคนก็คือประชาชนของชาติ” ซึ่งถือเป็นพลังอำนาจที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาคุณธรรม โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนแม่บทฯ ศึกษา วิเคราะห์ และนำผลจากการประชาพิจารณ์และข้อเสนอแนะของภาคส่วนต่าง ๆ มาบูรณาการผสมผสานกำหนดเป็นแผนงานหลักที่มีเป้าหมายทิศทางที่ชัดเจน
สาระสำคัญของแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๔) คือ การส่งเสริมให้คนไทยเป็นคนมีคุณธรรม มีความรักชาติ มีความศรัทธาและยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา มีความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมในประชาคมอาเซียนโดยดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ให้คุณธรรมนำการพัฒนา ทำให้สังคมไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และเป็นสังคมแห่งคุณธรรม
แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๔) ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ ดังนี้
วิสัยทัศน์
สังคมไทยมีคุณธรรมเป็นรากฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิต สืบสานความเป็นไทย อยู่ร่วมกันด้วยความสันติสุขในประเทศไทย ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกอย่างยั่งยืน
เป้าประสงค์
สังคมไทยเป็นสังคมคุณธรรม คนไทยปฏิบัติตนตามหลักคำสอนทางศาสนาที่ตนนับถือ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของไทย และอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขในประเทศไทย ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกอย่างยั่งยืน
พันธกิจ
๑) พัฒนาคนให้มีคุณธรรมตามหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม
๒) พัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมคุณธรรมให้มีประสิทธิภาพในมิติต่าง ๆ
๓) ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักและร่วมกันเป็นเครือข่าย มีส่วนร่วมในกระบวนการส่งเสริมคุณธรรม เพื่อสร้างสังคมคุณธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีธรรมาภิบาล มีความสมานฉันท์ และมีความยั่งยืน
๔) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก
ยุทธศาสตร์การส่งเสริมคุณธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ วางระบบรากฐานการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ สร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมคุณธรรมให้เป็นเอกภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก
_______________________________________________________________________________________________________________________________________